
มารู้จักหนังไซไฟ ‘ไซเบอร์พังก์’ กัน
ไซเบอร์พังก์ คือ อะไร ?
ไซเบอร์พังก์ เป็น แนวย่อย (Sub-Genre) ลงไปอีก ของหนังไซไฟ ที่มีฉากอยู่ในโลกอนาคต เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล แต่สังคมกลับเกิดความแตกต่างทางชนชั้น คุณภาพชีวิตของคนเลวร้ายมาก จนมีคำนิยามง่ายๆ ว่า “High Tech Low Life”
โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากนิยายไซไฟ จากผู้เขียนชื่อเช่น วิลเลียม กิ๊บสัน, แพท คาดิแกน, บรูซ สเตอร์ลิงก์, รูดี้ รัคเกอร์ และ ฟิลิป เค ดิค โดยมันโด่งดังและเกิดเป็นปรากฎการณ์ขึ้นมาได้เพราะนิยายของฟิลิป เค ดิค ‘Do Androids Dream of Electric Sheep? ถูกนำมาดัดแปลงกลายเป็นหนังใหญ่ขึ้นจอกำกับโดยริดลีย์ สก็อตต์ เรื่อง Blade Runner (1982)
ไซเบอร์พังก์ มักจะเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งพวก ปัญญาประดิษฐ์, แฮกเกอร์ องค์กรขนาดใหญ่ สิ่งสำคัญในยุคอนาคตซึ่งโลกสามารถสร้างหุ่นยนต์แอนดรอย์ มีพาหนะบินได้ และเครื่องอำนวยความสะดวกครบครันก้าวหน้า แต่ทำไมคุณภาพชีวิตของคนถึงได้ถอยหลังลงคลอง ช่องว่างคนรวยกับคนจนถ่างออกอย่างน่าเกลียด
ปีนี้มีหนังไซไฟไซเบอร์พังก์คลาสสิกฉายถึง 2 เรื่อง อย่าง Ghost in the Shell และ Blade Runner จึงอยากนำมายกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้เห็นภาพไซเบอร์พังก์ชัดเจนยิ่งขึ้น
เริ่มที่ Ghost in the Shell ศูนย์กลางอยู่ตัวเอกหญิง “โมโตโกะ” ที่ร่างกายเป็นไซบอร์กที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ทั้งตัว แต่สมองยังหลงเหลือส่วนเดิมอยู่บ้าง ตลอดเรื่องหนังพาดำดิ่งลึกลงไปในจิตใจของ “โมโตโกะ” ตั้งคำถามถึงตัวตนของตนเอง ว่าตัวเธอเป็นอะไรกันแน่ ระหว่างเครื่องจักรกล หรือ มนุษย์ หนังท้าทายคนดูในการยิงคำถามขบคิดในข้อจำกัดของหุ่นยนต์ไซบอร์ก และความหมายของการเป็นมนุษย์
Blade Runner เรื่องราวของนักสืบ เด็คการ์ด ที่ต้องตามจับพวกแอนดรอย์ที่ก่อการกบฎ เพราะอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่ต่างกัน Blade Runner ก็ตั้งคำถามกับความพร่าเลือนระหว่างเส้นแบ่งของไซบอร์กที่จะถูกรวมว่าเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ เมื่อพวกเขามีทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงอารมณ์ เหมือนที่มนุษย์มี แล้วอะไรจะเป็นเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับอมนุษย์ คำถามเหล่านี้นำไปสู่ฉากจบอันสะเทือนใจ ของแอนดรอย์ที่เรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์
นอกจากประเด็นอันซับซ้อนที่เหมือนเป็นแกนกลางของคำถามหนังไซเบอร์พังก์แล้ว สิ่งที่เป็นจุดร่วมเหมือนกันของหนังสองเรื่องนี้ยังมีความเป็นหนังฟิล์มนัวร์ นั่นคือโลกหม่นหมองสีเทา พร่าเลือนระหว่างความดีความชั่ว ฮีโร่และแอนตี้ฮีโร่ จน Blade Runner กลายเป็นต้นกำเนิดหนังนีโอนัวร์ (จะกล่าวถึงในคราวหลัง)
สุนทรียะของไซเบอร์พังก์ยังสามารถแสดงออกให้เห็นผ่านทางเมืองในหนังทั้งสองเรื่อง แรงบันดาลใจจากทิวทัศน์เมืองในเอเชีย Ghost in the Shell ผสมผสานระหว่างเมืองแห่งโลกล้ำอนาคต กับ วัฒนธรรมโบราณเก่าแก่(แรงบันดาลใจจากฮ่องกง) ป้ายโฆษณาบิลบอร์ดขนาดใหญ่ และแสงนีออนอันแสบตา จนทำให้เมืองดูยุ่งเหยิง แถมใน Blade Runner ยังแสดงให้เห็นอากาศอันเป็นพิษ เต็มไปด้วยผู้อพยพชาวจีน
สุดท้ายแล้วไซเบอร์พังก์ คือโลกอนาคตที่ทุกอย่างก้าวหน้าไปสุดขีด จนองค์กรขนาดใหญ่ผู้เลิศล้ำทางวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์สร้างหุ่นยนต์รวมไปถึงการแทรกแซงความส่วนตัวของมนุษย์จนไม่เหลืออิสรภาพใดๆ จนไปสู่การตั้งคำถามของสถาวะพ้นมนุษย์
อะไรคือความหมายของคำว่ามนุษย์ ?
อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์สร้าง ?
อะไรคือร่างกายหรือจักรกล ?
และคำถามสุดท้าย อะไรคือความจริงหรือความจริงเสมือน ?
blade runner ภาคหนึ่ง ( 1982 )
ที่เห็นผู้หญิงโฆษณา ตามตึก รวมทั้งบนยานบิน เป็นคนญี่ปุ่น
ตัวอักษรจีนต่างๆ ในเรื่อง blade runner ถ้าเป็นคนที่รู้จักภาษาญี่ปุ่น แล้วได้มาดูในภาคหนึ่งนี้
จะรู้ทันทีเลยครับว่า มีแต่ตัวอักษรญี่ปุ่น ไม่มีตัวอักษรจีนเลย
ส่วนที่ เจ้าของบทความว่า มีแต่ผู้อพยพชาวจีน จุดนี้บอกตรงๆ ผมเองก็ไม่แน่ชัด
เพราะ หน้าตาของคนจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ดูเผินๆ แล้วคล้ายกันมาก
แต่ผมเดาเองว่า พวกคนอพยพชาวเอเชียในเนื้อเรื่อง น่าจะเป็นชาวญี่ปุ่น เสียมากกว่า
ปล. ทำไม ถึงไม่มีตัวอักษรจีน หรือ คนจีน ในเนื้อเรื่อง blade runner 1982 เลย
จุดนี้ ผมเดาเอง ณ เวลานั้น (ช่วงทศวรรษ 80) ประเทศจีนปิดประเทศครับ
ฉะนั้น ทีมงานผู้สร้าง หนังเรื่องนี้ จึงอาจจะไม่อยากสุ่มเสี่ยง เอาข้อมูลต่างๆ ของประเทศจีนมาใช้
เพราะอาจงานเข้าได้